"ไทยพาณิชย์" จับมือ "ธรรมศาสตร์" ออกแบบหลักสูตรออนไลน์
"ไทยพาณิชย์" จับมือ "ธรรมศาสตร์" ออกแบบหลักสูตรออนไลน์
"ไทยพาณิชย์" จับมือ "ธรรมศาสตร์" ออกแบบหลักสูตรออนไลน์
หนุนทักษะจำเป็นแห่งโลกยุค"เศรษฐกิจดิจิทัล"สร้างการเรียนรู้ยั่งยืน
ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผนึกกำลังพัฒนาหลักสูตรด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ติดอาวุธนักศึกษาธรรมศาสตร์ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานยุคปัจจุบัน ด้วยทักษะ Digital Marketing, E-Commerce, Fintech, Blockchain เป็นต้น
ที่ออกแบบและรับรองโดย SCB Academy และ Google พร้อมสามารถเก็บเป็นเครดิตของมหาวิทยาลัย ต่อยอดการเรียนรู้ที่จบไว เป็นที่ยอมรับในโลกการทำงาน สอดรับแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต “Lifelong Learning”
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเห็นความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรจึงตั้ง SCB Academy ขึ้นมา โดยได้ริเริ่มโครงการในการพัฒนาบุคลากรหลายโครงการ ทั้งพนักงานภายในและประชาชนทั่วไป
เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งชุดความคิด (Mindset) ความรู้ และทักษะให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ วิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ที่มีส่วนในการสร้างผลกระทบเชิงธุรกิจ
ขณะเดียวกันก็ยังต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาทักษะของบุคลากรที่จะไม่หยุดนิ่ง แต่ต้องมีการ Upskill หรือ Reskill ติดอาวุธเพื่อให้ปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ตลอดเวลา
ปัจจุบัน SCB Academy ได้ดำเนินโครงการ A FAST ซึ่งมุ่งที่จะพัฒนา 4 ทักษะสำคัญที่คนจำเป็นต้องมีในโลกยุคปัจจุบัน ได้แก่ 1.ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill) 2.ทักษะการรู้จักตนเอง (Self Mastery) ความสามารถในการบริหารความคิด วางแผนชีวิตตนเอง
3.ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) 4.ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Team Collaboration)
นอกจากนี้แล้วในส่วนขององค์กรหากต้องการประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ก็จะต้องสร้างให้เป็น Learning Organization ที่ทุกคนในองค์กรมีความตื่นตัว พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา
ไม่เพียงทักษะบุคลากรของเราเองเท่านั้น แต่เรายังอยากส่งต่อประสบการณ์และบทเรียนต่างๆ อันมีคุณค่าเหล่านี้ให้กับสังคม โดยมีความตั้งใจที่จะนำทั้งหลักสูตร วิธีการ และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ที่สร้างขึ้น ส่งมอบให้กับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะทุนมนุษย์ของประเทศให้รองรับและทันกับโลกอนาคต
นายวรวัจน์ ยังกล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับธรรมศาสตร์ (มธ.) ในครั้งนี้ เป็นหลักสูตรที่ทำร่วมกับ Google ให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนและได้รับ Certificate รับรองจาก Google ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนที่จบออกไปเป็นที่ยอมรับในโลกของการทำงานได้ทันที
โดยโอกาสนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของความร่วมมือระหว่างสององค์กร บนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต่างเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะทุนมนุษย์ของประเทศ
ซึ่งเชื่อว่า มธ. เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ล้ำสมัยที่สุดในเรื่องนี้ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกันสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตต่อไป
ศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ ร่วมกับ SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ในการร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนดิจิทัล เพื่อสร้างอนาคตแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือระหว่าง มธ. กับ SCB Academy ครั้งนี้ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Digital Marketing & E-Commerce เทคโนโลยี Fintech & Blockchain ตลอดจนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกดิจิทัลยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกันภายใต้ความร่วมมือกับ SCB Academy นี้ยังมี Google เป็นพาร์ทเนอร์สำคัญ ที่จะช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้นักศึกษาสามารถนำไปประกอบอาชีพ พัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ต่อไปในอนาคต
ศ.ดร.นพ.รัฐกร กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการสนับสนุนให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ที่ข้ามศาสตร์ หรือการมีความรู้มากกว่า 1 แขนง เพื่อตอบโจทย์ให้เข้ากับโลกของการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการมีความรู้ที่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในด้านเศรษฐกิจยุคดิจิทัล จะช่วยให้นักศึกษามีความโดดเด่น และมีความสามารถในการประกอบอาชีพได้มากกว่าผู้อื่น
รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าว ทาง มธ. ได้นำหลักสูตรจาก SCB Academy กับ Google มาเป็นหนึ่งในรายวิชาของนักศึกษา มธ. ที่สามารถเลือกเข้าเรียนเมื่อไรก็ได้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งภายหลังเรียนจบหากประเมินความรู้ผ่าน นักศึกษาก็จะได้รับประกาศนียบัตร (E-Certification)
พร้อมกันนั้นยังมีระบบ Credit Bank ที่นักศึกษาสามารถจัดเก็บการเรียนรายวิชาเหล่านี้ไว้เป็นเครดิต เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาไม่ต้องเรียนในบางรายวิชา รวมถึงสามารถจบการศึกษาได้เร็วขึ้น
การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันเราเรียกว่า Anywhere, Anytime, Any Devices หมายความว่าเราสามารถเรียนรู้เมื่อไรก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ทำให้ในบางรายวิชานักศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปในชั้นเรียน แต่สามารถเลือกเรียนผ่านออนไลน์ได้
รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อไปว่า ด้วยทิศทางของ มธ. ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมองเห็นความสำคัญของการศึกษาออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทกับการเรียนการสอนในปัจจุบันมากขึ้น
ดังนั้น ทาง มธ. จึงไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่นักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ไปถึงกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักเรียนมัธยมผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาในอนาคต ผู้คนในวัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงวัย
โดยเฉพาะในอนาคตที่เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ต้องตอบโจทย์การศึกษาตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning
“ดังนั้นไม่ว่าใครก็เรียนได้ ไม่ว่าเป็นนักเรียนมัธยม คนวัยทำงาน หรือกระทั่งคนที่อยู่ในวัยเกษียณ เพราะการเรียนการสอนออนไลน์จะช่วยให้คนไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เฉพาะเพียงในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวเท่านั้น
แต่อาจเข้ามาเรียนออนไลน์เฉพาะในบางวิชาที่จำเป็น เป็นการ Up-Skill หรือ Re-Skill และได้องค์ความรู้ที่สามารถกลับไปพัฒนาการทำงานในปัจจุบันได้
โดยไม่ต้องเสียเวลามากเกินไป เข้ามาเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่จำเป็น และสามารถกลับไปต่อยอด พัฒนาการทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่ มธ. มุ่งตอบโจทย์และให้ความสำคัญ” รองอธิการบดี มธ. กล่าวย้ำ
ขณะที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังจะทำให้ มธ. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆ ที่ได้ร่วมจัดทำหลักสูตรกับหน่วยงานชั้นนำของประเทศอย่าง SCB Academy และหน่วยงานชั้นนำระดับโลกอย่าง Google
ทั้งยังจะเป็นแห่งแรกๆ ที่มีระบบ Credit Bank ซึ่งทำให้การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนเสร็จแล้วจบไป แต่สามารถนำ E-Certificate ที่ได้รับ เก็บไว้เป็นเครดิตเพื่อนำไปต่อยอดการเรียนในมหาวิทยาลัยได้
ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในโลกอนาคตได้ด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย สามารถเข้าเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิตหรือต่อยอดเสริมทักษะความรู้ได้ที่ https://learning.kaorag.com/ และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าเรียนเพื่อต่อยอดเสริมทักษะความรู้ได้ที่ https://pmdacademy.teachable.com/
27 กุมภาพันธ์ 2567
ผู้ชม 161 ครั้ง