"พฤกษา" ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่รับปีมังกรทอง ปั้นรายได้ 28,000 ล้านบาท
"พฤกษา" ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่รับปีมังกรทอง ปั้นรายได้ 28,000 ล้านบาท
"พฤกษา" ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่รับปีมังกรทอง ปั้นรายได้ 28,000 ล้านบาท
ดันรายได้ประจำแตะ25%ใน5ปี-เปิด30โครงการ มูลค่า29,000ลบ.เจาะระดับกลาง/บน
ปี 2566 พฤกษาโฮลดิ้งมีกำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท ทำรายได้ 26,132 ล้านบาท ธุรกิจเฮลท์แคร์ เติบโตในทุกมิติ ทำรายได้เติบโต 50% จำนวนผู้ป่วย Non-COVID ของโรงพยาบาลวิมุตเติบโต 49% จากปีก่อน
ในขณะที่ ปี 2567 เล็งต่อยอดธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) ตั้งเป้ารายได้รวม 28,000 ล้านบาท วางแผนเปิด 30 โครงการ มูลค่า 29,000 ล้านบาท คาดเพิ่มรายได้ธุรกิจพรีคาสท์เติบโต 50%
ชูกลยุทธ์ Ready To Thrive สร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผนวกความร่วมมือจากสินค้าและบริการที่หลากหลายในเครือจากทุกแพลตฟอร์ม ทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเฮลทแคร์
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจพรีคาสท์ และธุรกิจน้องใหม่-อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น รับก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย มุ่งสร้างสรรค์การอยู่อาศัยแบบ “Live well, Stay well อยู่ดี มีสุข” อย่างครบวงจร
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้ 26,132 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา โดยที่สัดส่วนธุรกิจหลักคืออสังหาริมทรัพย์ลดลงมาเหลือ 70% จากเดิม 80% ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ
สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจปี 2567 นั้น ส่วนรายได้ประจำ มีสัดส่วนอยู่ที่ 9% และมีแผนจะเพิ่มรายได้ส่วนนี้ให้เป็น 25% ภายใน 5 ปีหลัวจากนี้ ทั้งนี้ในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ทั้งกลุ่มรวม 28,000 ล้านบาท
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการพัฒนาแบรนด์สินค้าใหม่ “บ้านกรีนเฮ้าส์” เพื่อตอบรับกับกำลังซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนำเทคโนโลยีและการออกแบบการก่อสร้างแบบใหม่มาใช้ ให้ลูกค้าสามารถผ่อนกับธนาคารได้ เพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับทิศทางในปีนี้มุ่งเพิ่มสัดส่วนในสินค้าในกลุ่มเซกเมนต์กลาง-บน ให้สูงขึ้นมากกว่า 50% โดยคาดว่าจากปี 2566 ที่มีสัดส่วนสินค้ากลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ราว 70% ในปีนี้วางแผนปรับลดให้เหลือราว 40% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากขึ้น โดยโฟกัสกลุ่มระดับกลาง-บน
ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปอยู่ที่ 30% และบ้ารระดับราคากลาง 7 ล้านบาทขึ้นไปอยู่ที่สัดส่วน 30% และระดับต่ำกว่า 3 ล้านบาทอยู่ที่สัดส่วน 40% ดังกล่าว
ในช่วงปีที่ผ่านมาทางกลุ่มก็ได้มีการปรับโครงสร้าง และโมเดลธุรกิจหลายอย่าง ได้นำบริการด้านสุขภาพจากเครือวิมุต ผนวกกับเทคโนโลยีระบบ Smart Home จากแอปพลิเคชัน MyHuas นำเข้ามาปรับใช้ในการออกแบบโครงการ เพื่อเสริมความแข่งแกร่งของธุรกิจหลัก ด้วยการแยกกลุ่มธุรกิจ ออกมาอีก 4 แกน ได้แก่
- ธุรกิจเฮลท์แคร์ ครอบคลุมบริการทางสุขภาพตั้งแต่โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีการสร้างความร่วมมือ และการลงทุนใหม่ๆ เช่น การลงทุน เข้าถือหุ้น 25% ในบริษัท เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสปิตัล กรุ๊ป เตรียมขยายการบริการเนอร์สซิ่งโฮม ตั้งเป้าขยาย 600 เตียงภายใน 3 ปี กลุ่มยังมีแผนลงทุน 3,500 ล้านบาท ขยายโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สุขุมวิท ขยายเตียงที่โรงพยาบาลวิมุตเป็น 150 เตียง พร้อมเติบโตสู่เป้า 2,300 ล้านบาทในปี 2567
- ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด ในเครือพฤกษา ตั้งเป้าโต 5x ในปี 2567 และหวังสร้างรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี จะนำเสนอสินค้าและบริการเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแอปพลิเคชัน MyHaus เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะดูแลทั้งเรื่องความปลอดภัยภายในบ้าน และอำนวยความสะดวกสบายให้ลูกบ้านและนิติบุคคล ด้วยระบบ IOT (Security & Smart Home) ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดูแลได้ทั้งบ้านด้วยแอปพลิเคชันเดียว, Visitor Management ระบบคัดครองผู้มาเยือน, Facility Booking ระบบจองสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในโครงการ, Repair Management ระบบแจ้งซ่อมแซมบ้าน เพื่อให้สำนักงานนิติบุคคลติดต่อนัดเวลาช่างเข้าซ่อมอย่างมีระเบียบ รวมไปถึงระบบ Community ที่จะสร้างพื้นที่ให้ลูกบ้านสื่อสารกันได้ ซึ่งได้เตรียมพร้อมที่จะรองรับ การให้บริการแก่ลูกค้าจากกลุ่มเรียลเอสตทของพฤกษา ไปจนถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ com (คลิกซิ) ที่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ให้เลือกช้อปสินค้าที่เกี่ยวกับบ้าน บริการตกแต่งภายในจาก Zdecor และสินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์
- กลุ่มหน่วยธุรกิจใหม่ ที่แยกออกมาเพื่อรองรับการเติบโต เปิดโอกาสการสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจพรีคาสท์ จากความประสบความสำเร็จจากการแลกหุ้น ร่วมกับ บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL เพื่อเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ “อินโน พรีคาสท์” เพิ่มโอกาสในการจำหน่ายแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ ทำยอดคำสั่งซื้อและติดตั้ง (Backlog) ทั้งจากพฤกษาและลูกค้ารายอื่น ๆ สูงขึ้นทะลุเป้าหมายอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท สู่ผู้นำที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งเป้ารายได้โต 50% สู่ 3,500 ล้านบาท ในปี 2567 และกลุ่มก็ได้มี การแยกหน่วยงาน ธุรกิจรับก่อสร้าง สำหรับอาคารที่พักอาศัย ออกมาเป็นบริษัทใหม่ “อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น” ซึ่งเป็นการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นและสามารถรองรับการขยายโอกาสในการเติบโตและสร้างรายได้จากการรับก่อสร้าง ตั้งเป้าปี 2567 จะสร้างรายได้ 5,600 ล้านบาท จากพฤกษาและลูกค้ารายอื่นนอกจากกลุ่ม มุ่งสู่ความเป็นบริษัทรับก่อสร้างบ้านแนวราบที่ใหญ่ที่สุดในไทย
- การลงทุนเพื่อรองรับการขยายห่วงโซ่ธุรกิจ ขยายการลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์ และ อสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ จากประกาศความร่วมมือกับ 2 องค์กรชั้นนำจากสิงคโปร์และไต้หวัน จัดตั้งกองทุน “CapitaLand SEA Logistics Fund” มูลค่าทรัพย์สินเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการคลังจัดเก็บและกระจายสินค้าให้บริการครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลงทุนในกองทุน CapitalLand Wellness Fund ( C-Well) มูลค่าทรัพย์สินเป้าหมาย 72,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ
ด้วยการรีโมเดลธุรกิจ และโครงสร้างองค์กรในปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2567 นี้ เชื่อว่าพฤกษา โฮลดิ้งพร้อมด้วยกลุ่มบริษัทในเครือทั้งหมด มีความพร้อมทั้งด้านการปฏิบัติการ และความพร้อมทางการเงิน ที่จะเดินหน้าสู่ทิศทางแห่งการเติบโตอย่างก้าวไกลไปอีกขั้น ตามกลยุทธ์ Ready To Thrive
ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในครั้งนี้ได้แก่ (1) ประโยชน์จากการจัดซื้อจ้างในครั้งละจำนวนมาก การขนส่ง และการเพิ่มคุณค่าสินค้าให้โครงการ (2) เพิ่มโอกาสในการขายข้ามกลุ่มสินค้า (Cross-Selling) รองรับความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต
(3) สร้างรายได้เพิ่มเติม จากสินค้าและบริการต่างๆ ที่หลากหลาย ตั้งเป้าในอนาคต เพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเป็น 25% โดยผสานประโยชน์จากทุกแพล็ตฟอร์มเพื่อรังสรรค์การอยู่อาศัยที่ “อยู่ดี มีสุข” ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้
ในขณะที่สถานะทางการเงินของพฤกษายังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อหุ้นทุนสุทธิ (Net Gearing Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.27 เท่า และจากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา
ทางคณะกรรมการบริษัทก็ได้อนุมัติจะนำเสนอผู้ถือหุ้นที่จะจ่ายเงินปันผลเท่ากับ 65 สตางค์ รวมเงินปันระหว่างกาลแล้วจ่ายทั้งสิ้นเท่ากับ 96 สตางค์ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 1 มี.ค. 67
โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เมษายน 2567 มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับ 7.5% และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พ.ค. 67 นี้
“สำหรับการดำเนินงานในก้าวต่อไปพฤกษายังคงมุ่งมั่นสู่การสร้างความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 กลุ่มได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ลงได้ 10,000 ตัน จากการติดตั้งโซลาร์, การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน (Passive Home),
การใช้เทคโนโลยี Smart Home, โครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์, การใช้คอนกรีตสำเร็จรูปชนิดมีรูกลวง (Hollow Core) ลดการใช้ซีเมนต์, การใช้เทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (CarbonCure)
และยังคงเดินตามแผนที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573 และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 ในปี 2566 กลุ่มได้นำการทำอาคารสำนักงานแบบ Smart Office และ Smart Hospital โรงพยาบาลที่ใช้พลังงานน้อย
โดยล่าสุดโรงพยาบาลวิมุตได้รับรางวัล MEA Energy Award จากการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในโครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารอีกด้วย” นายอุเทน กล่าวย้ำ
ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 พฤกษาทำรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ราว 22,357 ล้านบาท มียอดขาย 18,540 ล้านบาท เปิดโครงการใหม่รวม 13 โครงการ มูลค่า 14,200 ล้านบาท
ส่วนในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายที่ 27,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนที่ 25,500 ล้านบาท วางแผนเปิดโครงการใหม่ 30 โครงการ แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 10 โครงการ ทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 3 โครงการ รวมมูลค่าทั้งหมดราว 29,000 ล้านบาท
โดยมีที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ที่จะแปลงเป็นรายได้ รวมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยวางแผนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ด้วยการเพิ่มสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าในเซ็กเม้นต์ระดับกลาง-สูง
พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มของแบรนด์ The Palm สู่ราคามากกว่า 30 ล้านบาท ที่นำความร่วมมือ (Synergy) จากธุรกิจเฮลท์แคร์ในเครือเข้ามาผสานใช้ ให้เป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
พร้อมมุ่งบริหารสินทรัพย์ที่มีในมือ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าในการ Re-Stock Landbank ด้วยงบ 10,500 ล้านบาท เพื่อมาต่อยอดการขยาย มุ่งพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อจะคงสัดส่วนการพัฒนาตามกลุ่มลูกค้าราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทให้ไม่เกิน 40% มากกว่า 7 ล้านบาทให้มากกว่า 30% และเกิน 10 ล้านบาทสัดส่วน 30%
สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยที่จะเปิดใหม่ในปี 2567 จะยังคงมุ่งพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข” โดยผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจในเครือพฤกษาทั้งธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างสรรค์การอยู่อาศัยที่ดี ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน อาทิ โซล่าเซลล์ พัฒนาดีไซน์บ้านเพื่อสุขภาพดี และประหยัดพลังงาน (Healthy living home & Passive design home) ให้ดูแลรักษาง่าย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย (Universal design) และช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้อาศัย
พร้อมด้วยการตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เพื่อให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น โดยนำแพลตฟอร์ม MyHuas ซึ่งป็นเทคโนโลยี Smart Home ควบคุมการทำงานในบ้านได้ที่ปลายนิ้วมาใช้ พร้อมด้วยมอบบริการเพื่อสุขภาพที่ดีจากโรงพยาบาลวิมุตพันธมิตรในเครือ
ด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2566 ว่า กลุ่มวิมุตมีการเติบโตขึ้นในทุกมิติ มีรายได้รวม 1,820 ล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน มีจำนวนผู้ป่วย Non-COVID ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลวิมุตเพิ่มขึ้น 49% ในปีที่ผ่านมา
โรงพยาบาลวิมุตประสบความสำเร็จในการเปิดศูนย์ส่องกล้องและหน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร (ENDOSCOPY & GI MOTILITY UNIT) ผลักดันการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
โดยได้เปิดตัวโปรแกรมการทำเลสิก (LASIK) และโปรแกรมตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้เฉพาะบุคคล (Gut Microbiome Test) ร่วมกับแอมิลิ (AMILI) บริษัทเฮลท์เทคชั้นนำจากสิงคโปร์ มุ่งช่วยคนไทยเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างตรงจุด
และยังช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำการปรับสมดุลจุลินทรีย์ให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการรักษาสมดุลของไมโครไบโอมในลำไส้ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคร้าย รวมถึงสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีในระยะยาว
นอกจากนี้โรงพยาบาลวิมุตยังคงต่อยอดความร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพิ่มทางเลือกและการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ 17 แพ็คเกจ อาทิ แพ็คเกจผ่าตัดถุงน้ำดี ผ่าตัดมดลูก เต้านม ก้อนเนื้อที่รังไข่ ซ่อมแซมไส้เลื่อน ผ่าตัดริดสีดวงทวาร เปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผ่าตัดก้อนหรือผิวหนัง เป็นต้น
พร้อมกับได้มีการขยายบริการไปยังกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับปี 2567 กลุ่มวิมุตตั้งเป้ารายได้ที่ 2,300 ล้านบาท มีแผนการรีแบรนด์โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ให้เป็น “โรงพยาบาลวิมุต เทพธารินทร์” พร้อมเปิดตัวในช่วงเดือนเมษายน 2567นี้
นอกจากนี้จากความร่วมมือกับ เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสปิตัล กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและเป็นโซลูชั่นในการดูแลผู้สูงอายุครบทุกมิติเพื่อขยายการรองรับสู่สังคมอายุยืน เข้าบริหารเนอร์สซิงโฮมของกลุ่มวิมุตในย่านบางนา แบริ่ง และวัชรพล ซึ่งมีจำนวนรวม 240 เตียง
พร้อมโอกาสในการบริหารเนิร์สซิงโฮมอีก 5 แห่ง โดยตั้งเป้าขยายจำนวนเตียงที่ให้บริการรวม 600 เตียง ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งยังคงดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลวิมุต แห่งใหม่ บริเวณถนนสุขุมวิทและย่านฝั่งธนฯ อย่างต่อเนื่อง
20 กุมภาพันธ์ 2567
ผู้ชม 198 ครั้ง