รมช.คลัง เยี่ยมคารวะ จุฬาราชมนตรี
รมช.คลัง เยี่ยมคารวะ จุฬาราชมนตรี
รมช.คลัง เยี่ยมคารวะ จุฬาราชมนตรี
ส่งสัญญาณบทบาทไอแบงก์ธุรกิจฮาลาล
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมคารวะ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี หลังจากได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง จุฬาราชมนตรี
ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดในกิจการของศาสนาอิสลามคนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยมี ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารธนาคารเข้าร่วม
โดยในการเข้าเยี่ยมคารวะจุฬาราชมนตรีครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานและแนะนำกรอบภารกิจภายใต้การกำกับดูแล รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการพี่น้องชาวไทยมุสลิมให้มีช่องทางทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม และประชาชนทั่วไปได้
นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้นำเสนอนโยบายกระทรวงการคลัง และภารกิจของรัฐบาลตลอดจนนโยบายระหว่างประเทศ ที่จะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิมและประชาชนโดยรวม ประกอบด้วย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกับบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นธนาคารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาซึ่งเป็นตามวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับฐานราก
โดยธนาคารสามารถขับเคลื่อนนโยบายนี้ในกลุ่มพี่น้องมุสลิม รวมถึงการหาพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินอิสลามจากต่างประเทศมาร่วมทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อยกระดับฐานะธนาคารให้แข่งขันกับนานาประเทศได้
อีกทั้งยังให้ความเห็นในด้านโอกาสในการขยายธุรกิจฮาลาลที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมสนับสนุนและจะจัดตั้งกรมฮาลาลขึ้นเร็วๆ นี้ว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและสำนักจุฬาราชมนตรี น่าจะมีส่วนสนับสนุนแนวคิดของการผลักดันกิจการฮาลาลดังกล่าว เนื่องจากเกี่ยวข้องอยู่แล้วในปัจจุบันตามบทบาทหน้าที่ที่มี
จุฬาราชมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาเยี่ยมเยียนและให้ความสำคัญต่อสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมมุสลิม ในมิติทางด้านศาสนา การศึกษา วัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรมุสลิมประมาณ 7-8 ล้านคน ที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อิสลามมีกรอบการดำเนินชีวิตเพื่อให้มุสลิมและมนุษย์ทุกคนมีแนวทางในการปฏิบัติตนที่ฮาลาลหรืออยู่ในกรอบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงอนุมัติ
ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภค ด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการปฏิบัติตนในสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันตราสัญลักษณ์ฮาลาล ออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่อยู่ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ในกรณีที่มีข้อสงสัยและจำเป็นต้องวินิจฉัยตามบทบัญญัติของศาสนา คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จะให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้ชี้ขาด ดังนั้นการที่จะให้ประเทศไทยมีตราสัญลักษณ์ฮาลาลเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในความถูกต้องของหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด
ในขณะที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล จุฬาราชมนตรี เห็นว่ารัฐบาลอาจมีนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ประสงค์ขอออกตราฮาลาล
เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจในการทำธุรกิจฮาลาลมากยิ่งขึ้นได้ และขอให้กระทรวงการคลังผลักดันและสนับสนุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นองค์กรสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยในช่วงสุดท้าย จุฬาราชมนตรี ได้ขอพรให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความราบรื่นและประสบแต่ความสุขสมหวังทุกประการ
10 กุมภาพันธ์ 2567
ผู้ชม 58 ครั้ง