สถิติ

70527990

กรุงไทย แนะทางรอดเษตรไทย ใช้ระบบบริหารจัดการน้ำอัฉริยะ

หมวดหมู่: การเงิน

   กรุงไทย แนะทางรอดเษตรไทย ใช้ระบบบริหารจัดการน้ำอัฉริยะ

   เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ตอบโจทย์เกษตรแห่งอนาคต 

  

   ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS แนะภาคเกษตรไทย ใช้ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบอัฉริยะ เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดการน้ำ   

   ลดความเสี่ยงความเสียหายของผลผลิตจากภาวะโลกร้อน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์เกษตรแห่งอนาคต คาดในช่วง 7 ปีข้างหน้า ไทยอาจต้องลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับการจัดการน้ำกว่า 360,000 ล้านบาท

   ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคเกษตรไทยเผชิญปัญหาผลิตภาพตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากแก้ไข ส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของ GDP ประเทศ

   ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 26% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ โดย 36% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร มาจากระบวนการจัดการน้ำ

   ดังนั้นภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อยกระดับผลิตภาพภาคเกษตรให้สูงขึ้น รับมือการเปลี่ยนผ่านของภาคเกษตรและอาหารไปสู่แนวทางสีเขียว

   “Climate Smart Water Management Solutions หรือ ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบอัฉริยะ เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวช่วยที่น่าสนใจในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในยุค Decarbonization

   ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น เทคโนโลยีการผลิตน้ำจากอากาศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ  

   การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมีเพื่อนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น” ดร.พชรพจน์ กล่าวย้ำ

   นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า Climate Smart Water Management Solutions ช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตภาคเกษตรเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรง

   และรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น โดยในระยะข้างหน้าหากผู้ประกอบการรายใดใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจจะถูกคู่ค้านำมาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าได้

   “เทคโนโลยี Climate Smart Water Management Solutions ช่วยให้ภาคเกษตรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หากใช้เทคโนโลยีผลิตน้ำจากอากาศ โดยดึงน้ำจากความชื้นในอากาศ แทนการจัดหาน้ำจากแหล่งน้ำบาดาล สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 70%

   ขณะที่การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางชีวภาพหรือใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดสิ่งเจือปนในน้ำ ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 60% หรือการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง

   ซึ่งเป็นการควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขังสลับกันไปกับช่วงน้ำแห้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม ช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 30% และ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าวได้ถึง 50%” นายอภินันทร์ กล่าวย้ำ

   นายกฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า หากต้องการให้ไทยยกระดับการบริหารจัดการน้ำไปสู่ Climate Smart Water Management Solutions จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันตลอดห่วงโซ่

   ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการ สถาบันวิจัยและพัฒนา ไปถึงจนหน่วยงานภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก Climate Smart Water Management Solutions ได้อย่างเต็มที่

   ทั้งในแง่ของการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเกษตรสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และกระตุ้นการรับรู้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงทำความเข้าใจถึงวิธีการการประเมิน Water Footprint ของภาคเกษตร

   “การยกระดับการบริหารจัดการน้ำไปสู่ Climate Smart Water Management Solutions คาดว่าต้องใช้เม็ดเงินลงทุนถึงราว 360,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2567-2573 หรือราวปีละ 51,000 ล้านบาท

   แต่ยังต่ำกว่าความเสียหายของผลผลิตภาคเกษตรไทยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเมินว่ามีมูลค่าราวปีละ 83,000 ล้านบาท โดยภาครัฐต้องเป็นแกนหลักในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำและระบบชลประทาน เป็นต้น

   เพื่อให้การเข้าถึงแหล่งน้ำและระบบชลประทานสำหรับการทำการเกษตรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน” นายกฤชนนท์ กล่าวสรุป

21 ธันวาคม 2566

ผู้ชม 130 ครั้ง

Engine by shopup.com