สำนักงานคปภ. ออกตารางกรมธรรม์ประกันภัยพ.ร.บ.รูปแบบใหม่"ไม่มีแถบโฮโลแกรม"
สำนักงานคปภ. ออกตารางกรมธรรม์ประกันภัยพ.ร.บ.รูปแบบใหม่"ไม่มีแถบโฮโลแกรม"
สำนักงานคปภ. ออกตารางกรมธรรม์ประกันภัยพ.ร.บ.รูปแบบใหม่"ไม่มีแถบโฮโลแกรม"
ยกระดับธุรกิจประกันภัยสู่ ESG ตรวจสอบความคุ้มครองประกันภัย พ.ร.บ. หลังซื้อทันที
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 31/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
โดยเป็นการเพิ่มรูปแบบตารางกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อให้บริษัทประกันภัยที่มีความพร้อมตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สามารถยื่นขอรับความเห็นชอบแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. แบบใหม่นี้ได้
ซึ่งจากเดิมเมื่อซื้อประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. จะได้รับหลักฐานที่สำคัญ คือ “ตารางกรมธรรม์ประกันภัย” ที่ระบุข้อมูลผู้เอาประกันภัย ข้อมูลรถ วันเริ่มต้น-สิ้นสุดความคุ้มครอง ข้อมูลบริษัทประกันภัย และตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยที่เสนอขาย
ซึ่งปัจจุบันตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. มี 3 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่มีแถบโฮโลแกรม (Hologram) รูปแบบที่สองตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. แบบ PVR-Slip เพื่อใช้ในการออกกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
และรูปแบบที่ 3 ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) สำหรับการเสนอขาย ณ สถานที่จัดจำหน่ายที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น
อาทิ จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งการกำหนดให้หน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ต้องมีแถบโฮโลแกรม (Hologram) สืบเนื่องมาจากจะช่วยป้องกันการปลอมแปลงตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้จัดให้มีระบบฐานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามมาตรฐานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT security)
และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดให้บริษัทรายงานข้อมูลการรับประกันภัยทันทีที่รับประกันภัย ตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้บริษัทรายงานการรับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2565
ซึ่งขณะนี้บริษัทได้นำส่งข้อมูลดังกล่าวเข้าฐานข้อมูล CMIS แล้ว จึงส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับประโยชน์สูงสุด อาทิ โรงพยาบาล สามารถตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้การรักษาแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถได้ทันท่วงที
อีกทั้งได้เชื่อมโยงระบบดังกล่าวกับกรมการขนส่งทางบกผ่าน Web Service ด้วยช่องทาง Leased Line ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีการเข้ารหัสข้อมูลทำให้มีความปลอดภัย ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร
ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกก็ไม่ต้องเรียกเก็บหลักฐานส่วนท้ายของตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อีกต่อไป อันเป็นการปรับกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายการเป็นรัฐบาลดิจิทัล
สำนักงาน คปภ. มีความมั่นใจว่า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่นํามาขับเคลื่อน การดำเนินงานประกันภัย พ.ร.บ. ดังกล่าว จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มี แถบโฮโลแกรม (Non-hologram)
ที่บริษัทออกให้เป็นฉบับจริงและประชาชนสามารถตรวจสอบความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ได้ทันทีหลังจากซื้อประกันภัย ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินการ
สำนักงาน คปภ. จึงออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 31/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)
ซึ่งถือเป็นการเพิ่ม “ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. รูปแบบใหม่” โดยสาระสำคัญของคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ 2 ประการ เพื่อให้บริษัทประกันภัยที่มีความพร้อม
ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ. กำหนด สามารถยื่นขอรับความเห็นชอบแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) ต่อนายทะเบียนได้ ดังนี้
1. กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องยื่นรายงานตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้บริษัทรายงานการรับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2565
เพื่อให้สำนักงาน คปภ. มีฐานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับที่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันแบบ Realtime ซึ่งจะส่งผลให้กรมการขนส่งทางบกสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านระบบที่เชื่อมโยงกันไว้ได้
เพื่อยืนยันการทำประกันภัย พ.ร.บ. ของประชาชนก่อนชำระภาษีรถประจำปีในทุกช่องทางของกรมการขนส่งทางบก โดยไม่ต้องแสดงหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาในการชำระภาษีรถประจำปีของประชาชน
2. กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องจัดให้มีช่องทางให้แก่ผู้เอาประกันภัยตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ทันที และตลอดอายุความตามกฎหมาย หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
โดยบริษัทประกันภัยต้องระบุช่องทางการตรวจสอบไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อาทิ วิธีการตรวจสอบผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัย เป็นต้น
โดยประชาชนสามารถตรวจสอบความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. หลังจากซื้อประกันภัยได้ทันที สำหรับแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)
ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee : PGC) ของบริษัทประกันภัยก่อนยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)
“การเพิ่มตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. รูปแบบใหม่ โดย “ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)” ตามคำสั่งนายทะเบียนนี้ จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่บริษัทออกให้เป็นฉบับจริง
และสามารถตรวจสอบความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. หลังซื้อประกันภัยได้แบบ Realtime ตลอดจนช่วยลดต้นทุนของการออกกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ให้แก่ภาคธุรกิจประกันภัย
โดยการลดต้นทุนดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาพิจารณาปรับปรุงค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ในอนาคต ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยคำนึงถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental Social and Governance : ESG)
ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสิ่งแวดล้อม (Environmental) ที่เริ่มปรับจากการออกกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ในรูปแบบกระดาษที่มีแถบโฮโลแกรม (Hologram) มาเป็นรูปแบบกระดาษที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram) รวมไปถึงการเลือกรับกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ในรูปแบบ e-Policy
ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่ซื้อประกันภัยในรูปแบบออนไลน์และเลือกรับหลักฐานการทำประกันภัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หรือมิติทางสังคม (Social)
ที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. และความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ได้ทันทีที่ซื้อประกันภัย หรือมิติทางธรรมาภิบาล (Governance)
ที่ส่งเสริมการรับประกันภัย พ.ร.บ. ให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่มีมาตรฐานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT security)
พร้อมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวเป็นดิจิทัล อันเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 และแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2567 – 2569) อีกด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวสรุป
29 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 174 ครั้ง