Krungthai COMPASS ชี้ 5 เทรนด์
Krungthai COMPASS ชี้ 5 เทรนด์
Krungthai COMPASS ชี้ 5 เทรนด์
ธุรกิจมาแรง ตอบโจทย์ตลาดผู้สูงวัย
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินตลาดผู้บริโภคกลุ่มสูงวัย หรือ Silver Gen เติบโตสูง เฉลี่ยปีละ 4.4% มีแนวโน้มแตะ 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของเศรษฐกิจไทยในอีก 7 ปีข้างหน้า
แนะผู้ประกอบการ เตรียมรับมือ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ชี้ “5 เทรนด์ธุรกิจมาแรง” ตอบโจทย์ Silver Gen ทั้ง อาหาร ท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และบริการการเงินเพื่อผู้สูงอายุ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์สังคมสูงวัยถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะเป็นปัจจัยที่กดดันฐานะทางการคลังของประเทศ จากภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ และด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สูงถึง 90,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ใช้งบประมาณ 60,000 ล้านบาท และอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ 130,000 ล้านบาท ในปี 2572 หรือ เพิ่มขึ้น 44% จากปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง และอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า “เศรษฐกิจสูงวัย” หรือ “Silver Economy” ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจสูงวัยทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 26.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 880-900 ล้านล้านบาท คิดเป็น 26.6% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั่วโลก
ขณะที่มูลค่าตลาดผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงวัย หรือ Silver Gen ของไทย มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.4% และคาดว่าจะสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
นับเป็นความท้าทายสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการเตรียมความพร้อมรับมือและคว้าโอกาสจากกลุ่ม Silver Gen ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจ เพราะมีศักยภาพด้านการเงิน พร้อมจับจ่ายใช้สอย
น.ส. วีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) โดยมีสัดส่วนประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ภายในระยะ 5-6 ปีข้างหน้า
และแนวโน้มค่าใช้จ่ายของกลุ่ม Silver Gen ที่เพิ่มขึ้น จึงวิเคราะห์ว่ามี 5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง คือ 1. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2. การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งบริการนำเที่ยว และโรงแรม
3. การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน 4. ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และ 5.บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ทั้ง SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะสร้างโอกาสเติบโตจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้
สำหรับภาครัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยศึกษาตัวอย่างของรัฐบาลต่างประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย
ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 1. กระตุ้นให้ประชาชนมีลูกเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุประชากรในระยะยาว ผ่านการเพิ่มเงินอุดหนุนและสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการมีบุตร
2. ขยายอายุเกษียณและสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้มีกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจต่อไป เช่น ญี่ปุ่นปรับอายุเกษียณอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 กำหนดอายุเกษียณเป็น 70 ปี
และ 3. ยกระดับสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุผ่านกองทุนประกันสังคม ประกันสุขภาพ และระบบบำนาญ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนกลุ่ม Silver Gen
23 กันยายน 2566
ผู้ชม 162 ครั้ง