BEM คัมแบ็ก! กำไร Q2 พุ่ง 1,650 ล้านบาท
BEM คัมแบ็ก! กำไร Q2 พุ่ง 1,650 ล้านบาท
BEM คัมแบ็ก! กำไร Q2 พุ่ง 1,650 ล้านบาท
รับเศรษฐกิจฟื้นตัวจากปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้น
BEM ผงาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 จำนวน 901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42 เหตุจากเศรษฐกิจฟื้น ปริมาณการเดินทางและผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดันรายได้หลักของบริษัททั้ง 3 กลุ่มธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3,907 ล้านบาท พร้อมส่งผลให้กำไรสุทธิช่วงครึ่งปี 2566 พุ่ง 1,650 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนถึงร้อยละ 70 ส่วนผลเชิงบวกจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสสาม
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2566 ว่า ภาพรวมของปริมาณการเดินทางในไตรมาสที่ 2 นั้นเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
ส่งผลให้ผู้คนกลับมาเดินทางได้เป็นปกติ ปริมาณของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีการต่างๆ
“จากภาพรวมการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ BEM มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท ในไตรมาสที่ 2/2566 จำนวน 901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 267 ล้านบาท หรือร้อยละ 42
สาเหตุจากรายได้ของสามกลุ่มธุรกิจหลักเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีจำนวนสูงถึง 3,907 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 645 ล้านบาท หรือร้อยละ 20
แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจทางพิเศษ จำนวน 2,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 189 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนทุกสายทาง
โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.10 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยเฉพาะทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก (ทางพิเศษประจิมรัถยา) ที่มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 16 ซึ่งสูงกว่าสายทางอื่น
รายได้จากธุรกิจระบบราง หรือรถไฟฟ้า MRT มีจำนวน 1,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 386 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น 302 ล้านบาท โดยผู้ใช้บริการในไตรมาสนี้เฉลี่ยทุกประเภทวันอยู่ที่ 351,600 เที่ยวต่อวัน
ขณะเดียวกันการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่สายสีน้ำเงิน ณ จุดเชื่อมต่อสถานีลาดพร้าวนั้น รายได้ค่าโดยสารจะเพิ่มชัดเจนในไตรมาสที่ 3 ส่วนรายได้จากการรับจ้างเดินรถโครงการสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 84 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน
และ รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยการเปิดพื้นที่ Metro Mall ให้เช่าพื้นที่โฆษณาและเช่าพื้นที่ร้านค้าปลีก มีจำนวน 277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 70 ล้านบาท
โดยส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากการจัดสรรพื้นที่ให้เป็น Metro Art สถานีพหลโยธิน กระตุ้นให้ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะทุกแขนงได้เข้ามาใช้พื้นที่และจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ผลประกอบการของงวดหกเดือนปี 2566 ยังแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของ BEM อย่างชัดเจน ด้วยกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท มีจำนวนถึง 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 680 ล้านบาท หรือร้อยละ 70
นอกจากนี้ BEM ยังได้ขยายเวลาจำหน่ายบัตรเที่ยวโดยสาร (Pass) 30 วัน ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และบริษัทได้รับการคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์
ให้เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debentures) ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ BEM จะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ด้วยความพร้อมและความมุ่งมั่นในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
11 สิงหาคม 2566
ผู้ชม 267 ครั้ง