SAMART ส่ง SAV ผู้ให้บริการวิทยุการบินรายเดียวในกัมพูชา IPO
SAMART ส่ง SAV ผู้ให้บริการวิทยุการบินรายเดียวในกัมพูชา IPO
SAMART ส่ง SAV ผู้ให้บริการวิทยุการบินรายเดียวในกัมพูชา IPO
ระดมทุนล้างหนี้1,100ลบ.-ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้-หนุนพอร์ตบริษัทแม่
SAMART เตรียมส่ง “SAV" บมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ เข้า SET คาดเข้าเทรดไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมก้าวเป็นผู้นำการให้บริการและโซลูชั่นด้านการบินแบบครบวงจรในอาเซียน ชูจุดแข็งธุรกิจมั่นคง ไร้คู่แข่ง และอุตสาหกรรมการบินกลับมาเติบโตสูง
นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เปิดเผยว่า บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มสามารถ ได้เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2566 นี้
โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV มีทุนจดทะเบียน 320,000,000 บาท ชำระแล้ว 288,000,000 บาท
เป็นบริษัท โฮลดิ้ง ซึ่งมีธุรกิจหลัก คือ การให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจร ผ่าน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่ง “SAV” ถือหุ้นใน CATS 100%
โดย CATS เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาระยะเวลารวม 49 ปี (2545-2594) ในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา
โดยปัจจุบัน กัมพูชามีสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง
โดยรายได้หลักของ CATS มาจากบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ 1.รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing &Take-off : Domestic)
2.เที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International) 3. รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight)
“ในปี 2565 SAV มีรายได้รวม เท่ากับ 1,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 724 ล้านบาทในปีก่อนหน้าและ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 199.5 ล้านบาท ทั้งนี้หลังจากผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโต SAV มีผลการดำเนินงานที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย SAV มีจุดเด่นหลายประการ คือ 1.เป็นผู้ให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจร เพียงรายเดียวในกัมพูชา 2.มีรายได้ประจำทั้งจากทุกเที่ยวบินที่ขึ้น-ลงในประเทศกัมพูชา
3.มีรายได้ประจำจากทุกเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา โดยเฉพาะเที่ยวบินไปเวียตนามซึ่งเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างสูง
4.SAV มีระยะเวลาสัมปทานอีก 29 ปีและสามารถต่อระยะเวลาสัมปทานได้อีก 5. ธุรกิจวิทยุการบิน ลงทุนต่ำและให้ผลตอบแทนสูง และไม่มีคู่แข่ง 6. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาและอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตสูง
ทั้งนี้ในการการ IPO ครั้งนี้ SAV จะนำเงินมาใช้ในการชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 1,100 ล้านบาท และทำให้ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 50-60 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ SAV เป็นบริษัทที่ปลอดหนี้ และเสริมศักยภาพของทาง SAMART ต่อไป
นายวัฒนชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า กลุ่มสามารถ ได้ลงทุนในหลายกลุ่มธุรกิจมากกว่า 60 ปี โดยเริ่มลงทุนในธุรกิจด้านการบินที่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2545
และ SAV ( ซึ่งกลุ่มสามารถถือหุ้นในบริษัท 100% โดย บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ถือหุ้น 66.67% และบริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 33.33%) เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานด้านบริการวิทยุการบินครบวงจรในประเทศกัมพูชา
โดยบริษัทลงทุนในเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ และตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายระยะเวลาสัมปทานต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง และสัมปทานล่าสุดครอบคลุมถึงปี 2594 ทำให้ธุรกิจของ SAV มีเสถียรภาพอย่างสูง
“เมื่อ SAV เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์จะเป็น การ Unlock Value หรือ ปลดปล่อยศักยภาพและมูลค่าของกลุ่มสามารถ เนื่องจาก SAV เป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง อยู่ในอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตสูงและต่อเนื่อง คาดมูลค่าทางการตลาดหรือ Market Cap จะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท
อีกทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดี ธุรกิจมีความมั่นคงสูง มีความสามารถในการทำกำไรสูง และเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินในเอเชียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวในอาเซียน” นายวัฒนชัย กล่าวย้ำ
นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ SAV กล่าวว่า SAV ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 224,000,000 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 35.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทในครั้งนี้
โดยแบ่งออกเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท และหุ้นสามัญเดิมและจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท
โดยมูลค่าที่ตราไว้ เท่ากับ 0.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพื่อรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ
นอกจากนี้ SAV ยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเมื่อบวกกับความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งแล้ว เชื่อว่า SAV จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวอย่างแน่นอน
16 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 236 ครั้ง