SINGER-SGC ยกเครื่อง!องค์กรจัดแม่ทัพใหม่
SINGER-SGC ยกเครื่อง!องค์กรจัดแม่ทัพใหม่
SINGER-SGC ยกเครื่อง!องค์กรจัดแม่ทัพใหม่
ก้าวสู่NEW CHAPTER-ท็อปทรีNon-bankใน3ปี
SINGER ผนึก SGC เปิดตัวแม่ทัพใหม่จัดทัพธุรกิจสินเชื่อก้าวสู่ New Chapter ตั้ง “นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์” คุมบังเหียน SINGER และ “อโณทัย ศรีเตียเพ็ชร” คุม SGC ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อ มุ่งเป้าหมายเป็น Non-bank 1 ใน 3 ภายใน 3 ปีนี้ พร้อมคุม NPL ใหม่ไม่เกิน 5%
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ใน SINGER บริษัทก็พร้อมเดินหน้าสานต่องาน SINGER ได้ทันที
เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด และได้ทำงานใกล้ชิดผสาน Synergy ระหว่างกลุ่มบริษัทด้วยกันอยู่แล้ว
โดยการเข้ามาบริหารงานเต็มตัวใน SINGER มุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพ เพื่อการเติบโตแบบยั่งยืน อันได้แก่ คุณภาพของสินค้า คุณภาพของบัญชีและการติดตาม และคุณภาพการให้บริการ
โดยได้กำหนดทิศทางในปี 2566 ในการสร้างซิงเกอร์ในรูปแบบใหม่ ได้แก่ 1) การสร้างฐานยอดขายใหม่ จากผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากสินค้าหลักของซิงเกอร์ เช่น โซลาร์รูฟ เฟอร์นิเจอร์ และการผ่อนทอง 2) ธุรกิจปั๊มตามใจ ที่มีการนำตู้น้ำมันและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของซิงเกอร์ อยู่ร่วมกัน
3) โดยตั้งเป้าการวางตู้น้ำมันจำนวน 5,000 ตัวทั่วประเทศ 4) นำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำสินเชื่อ 5) การสร้างแบรนด์ซิงเกอร์ ผ่านการทำ SINGER SEWING MACHINE ACADEMY และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ
“SINGER จัดทัพองค์กรใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยยังคงผสาน Synergy กับกลุ่มบริษัทในเครือ JMART เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้แข็งแกร่งที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับ เจมาร์ท โมบาย ในการจำหน่ายสินค้าซิงเกอร์ผ่านทางช่องทางต่างๆ ของเจมาร์ท และการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าซิงเกอร์เข้าไปสู่โปรเจ็กต์ต่างๆ ของ เจเอเอส แอสเซ็ท และ โครงการบ้านมือสอง ของ เจ แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์
รวมถึงตั้งใจเข้ามาตั้งเป้าหมายปรับแผนธุรกิจใหม่ให้กับบริษัท พร้อมดัน พอร์ตสินเชื่อรวมแตะระดับ 20,000 ล้านบาท หรือโตประมาณ 35% จากปีก่อน แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (C4C)
ภายใต้แบรนด์รถทำเงินของ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ประมาณ 7,700 ล้านบาท และวางเป้าหมายควบคุมอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สำหรับสินเชื่อใหม่ ในปีนี้ไม่เกิน 5%” นายนราธิป กล่าว
นายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC กล่าวว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการใน SGC เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะนี้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือได้เป็นอย่างดี
โดยการเข้าตลาดหุ้นของ SGC เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนมากขึ้น และทำให้บริษัทสามารถขยายการเติบโตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ เป็นโอกาสให้ SGC บุกตลาดรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
โดยปีนี้จะเน้นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” โดยมุ่งเน้นรถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว และเป็นตลาดที่ SGC เชี่ยวชาญ
รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อ C4C นั้น มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของพอร์ตสินเชื่อของ SGC ทั้งหมดแล้ว
“ในปีนี้ SGC ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อโตแตะระดับ 20,000 ล้านบาท และมุ่งสู่เป้าหมาย 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 จาก ณ สิ้นปี 2565 มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 14,897 ล้านบาท
โดยจะให้ความสำคัญในการอนุมัติสินเชื่ออย่างรัดกุม เพื่อควบคุม NPL ของสินเชื่อใหม่ ให้อยู่ในระดับต่ำ หรือวางเป้าไม่เกิน 5% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรในอนาคตให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ” นายอโณทัย กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของลูกค้ารายย่อย ของสินเชื่อ C4C จากร้อยละ 37 ให้เพิ่มเป็น ร้อยละ 60 ภายใน 3 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น
และการนำเอาระบบการอนุมัติสินเชื่อที่ใช้เทคโนโลยีในการพิจารณามากขึ้น โดยได้วางแผนในการลงทุนในการพัฒนาระบบสินเชื่อใหม่เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทในปีนี้
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ SGC ประกอบด้วย 1. สินเชื่อประเภทให้เช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (รถบรรทุก รถยนต์นั่ง ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์) ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน”
2. สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในครัวเรือน (Home Appliances) เครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Commercial Appliances) 3. สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน (Debt Consolidation)
และ 4. สินเชื่ออื่นๆ โดยจะมีแผนในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เช่น การผ่อนเครื่องจักรทางการเกษตร และสินเชื่อบ้านและที่ดิน ภายในปี 2566 นี้
10 พฤษภาคม 2566
ผู้ชม 533 ครั้ง