กรุงเทพประกันภัย ชี้แจง! กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก
กรุงเทพประกันภัย ชี้แจง! กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก
กรุงเทพประกันภัย ชี้แจง! กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก
โพสต์อ้างถึงการไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย
ตามที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ว่าเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เกิดเหตุชนกับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ได้รับบาดเจ็บนั่งซ้อนท้ายมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565
โดยผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลกรุงเทพ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งสิ้นจำนวน 1,018,794.50 บาท และยังไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด ซึ่งข้อความดังกล่าวได้มีผู้แสดงความคิดเห็น ส่งต่อ และเผยแพร่สู่สาธารณะไปอย่างแพร่หลาย
บริษัทขอเรียนแจ้งว่าข้อความที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังกล่าว ยังมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนและยังขาดรายละเอียดในสาระสำคัญหลายประการ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป และส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของบริษัทเป็นอย่างมาก บริษัทจึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
- วันที่ 13 กันยายน 2565 รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทได้เกิดเหตุชนกับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ได้รับบาดเจ็บนั่งซ้อนท้ายมา เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาซ้ายหัก มีบาดแผลบริเวณใบหน้า และบริเวณร่างกาย ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
- วันที่ 21 กันยายน 2565 บริษัทได้ติดต่อไปยังผู้ได้รับบาดเจ็บและโรงพยาบาลกรุงเทพเพื่อออกหนังสือรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ได้รับบาดเจ็บตามวงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อให้ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการรักษาดีที่สุดและเป็นการรับรองว่าบริษัทจะชำระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บแจ้งว่าต้องการใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ของผู้ได้รับบาดเจ็บเอง และได้ทำการเบิกค่ารักษาพยาบาล จำนวน 1,018,794.50 บาท จากบริษัทประกันภัยของตนเองเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้ได้รับบาดเจ็บได้นำสำเนาใบแจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนดังกล่าว พร้อมใบเสร็จรับเงินค่ารักษาที่สำรองจ่ายไปแล้ว จำนวน 13,699.60 บาท มาแสดงกับทางบริษัท ซึ่งบริษัทไม่สามารถชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 1,018,794.50 บาทได้ เนื่องจากตามหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น หากใช้สิทธิ์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทประกันภัยแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจำนวนนั้นจากบริษัทประกันภัยอื่นได้อีก
- วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 พนักงานสอบสวนนัดเจรจาที่สถานีตำรวจนครบาล เขตปทุมวัน และบริษัทได้แจ้งให้ผู้ได้รับบาดเจ็บส่งรายละเอียดค่าเสียหายที่ประสงค์จะเรียกร้องกับบริษัท
- วันที่ 16 มกราคม 2566 ผู้ได้รับบาดเจ็บได้ยื่นข้อเรียกร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเป็นจำนวนสูงถึง 4,599,694.05 บาท ในขณะที่วงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยมีจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติ การพิจารณาจ่ายค่าชดเชยที่มีวงเงินเกินกว่าวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทจะต้องเจรจาภายใต้ความเห็นชอบของผู้เอาประกันภัย
- วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทได้ติดต่อไปยังผู้ได้รับบาดเจ็บทางโทรศัพท์เพื่อเสนอจ่ายค่าสินไหมทดแทนอื่นๆ นอกเหนือไปจากค่ารักษาพยาบาลที่ผู้ได้รับบาดเจ็บได้เบิกจ่ายไปจากประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ของบริษัทประกันภัยอื่นแล้ว แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้นบริษัทจึงขอให้ผู้ได้รับบาดเจ็บนำเสนอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมพร้อมรายละเอียดประกอบการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายดังกล่าว
- วันที่ 31 มีนาคม 2566 ผู้ได้รับบาดเจ็บได้ให้ตัวแทนเข้าพบเจ้าหน้าที่บริษัทแต่ไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายได้ ประกอบกับค่าชดเชยความเสียหายที่เรียกร้องมาเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนและสูงกว่าวงเงินความคุ้มครอง 1,000,000 บาท เป็นอย่างมาก โดยผู้ได้รับบาดเจ็บยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิม จึงทำให้บริษัทยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายตามที่ผู้ได้รับบาดเจ็บเรียกร้องได้
- วันที่ 7 เมษายน 2566 พนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้เจ้าหน้าที่บริษัทผู้เอาประกันภัย และผู้ได้รับบาดเจ็บ ไปเจรจาค่าเสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บไม่มาตามนัดหมาย ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายต่อไป
ทั้งนี้บริษัทขอเรียนว่า บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยตามที่ผู้ได้รับบาดเจ็บกล่าวอ้าง และได้มีการติดต่อเจรจาเป็นระยะๆ แต่เหตุที่ไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากค่าเสียหายที่ผู้ได้รับบาดเจ็บเรียกร้องมาเกินกว่าวงเงินที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
บริษัทขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามหลักประกันภัยและหลักกฎหมายที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ได้รับบาดเจ็บควรได้รับอย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ตามการที่มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงความคิดเห็น ส่งต่อ และเผยแพร่ ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทขอความกรุณายุติการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
08 เมษายน 2566
ผู้ชม 1319 ครั้ง