บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป ดีเดย์!ไฟลิ่งเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 157.50 ล้านหุ้น
บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป ดีเดย์!ไฟลิ่งเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 157.50 ล้านหุ้น
บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป ดีเดย์!ไฟลิ่งเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 157.50 ล้านหุ้น
เข้าระดมทุนเอ็ม เอ ไอ-รุกบริการแพลตฟอร์มธุรกิจประกันภัยรถยนต์-สุขภาพ
"บมจ.บูลเวนเจอร์ กรุ๊ป" หรือ BVG โชว์ศักยภาพการดำเนินธุรกิจในการเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวเนื่องในธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ
ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่า
พลิกโฉมสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่อุตสาหกรรมประกัน (Industry Game Changer) และขยายขอบเขตการให้บริการไปในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว
นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ BVG เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้บุกเบิกและถือเป็นหนึ่งในผู้นำการประกอบธุรกิจให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน สำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์
โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการระบบบริหารจัดการสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ด้วยการใช้ฐานข้อมูล (Big Data) มาพัฒนาระบบการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี
เพื่อให้บริการระบบแพลตฟอร์มกลางในการจัดการธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัย ช่วยยกระดับมาตรฐานกระบวนการทำงานของธุรกิจประกันภัยรถยนต์และธุรกิจประกันสุขภาพ
ก้าวสู่การเป็น InsurTech เต็มรูปแบบ ซึ่งจะสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมอบประสบการณ์การให้บริการที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ BVG มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์ในการใช้บริการและตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา”
โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับให้เข้ากับรูปแบบการบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS)
ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการดำเนินธุรกิจประกัน
ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนการจัดการค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกค้าของบริษัท ตั้งแต่กระบวนการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การจัดส่งเจ้าหน้าที่สำรวจภัยไปยังที่เกิดเหตุและการแจ้งเคลมแบบ Online (m-survey)
และการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนในกระบวนการจัดซ่อม (e-claim) การจัดซื้ออะไหล่ (e-Part) และระบบเสริมอื่นๆ เช่น ระบบสำหรับรถยก
(e-towing) ระบบการจัดการประมูลซากรถยนต์ (e-Auction)
ระบบบริหารงานภายในอู่ซ่อมและให้บริการลูกค้าเงินสด (e-Garage) ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการให้บริการเคลมประกันภัยรถยนต์ และสร้างโอกาสการเติบโตแก่บริษัทในอนาคต
ปัจจุบันบริษัทได้รับความไว้วางใจใช้บริการระบบ EMCS จากบริษัทประกันภัย ที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ 34 บริษัท จากบริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ทั้งหมดจำนวน 39 บริษัท
โดยปี 2564 บริษัทประกันภัยที่ใช้ระบบ EMCS มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจจำนวน 10.7 ล้านกรมธรรม์ จากทั้งหมด 11.0 ล้านกรมธรรม์ (คิดเป็น 97% ของจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ)
ทั้งนี้ในปี 2564 ลูกค้าของบริษัทมีมากกว่า 3,700 ราย ได้แก่ บริษัทประกันภัย ศูนย์บริการมาตรฐาน อู่ซ่อม ร้านเปลี่ยนกระจกรถยนต์ ร้านอะไหล่ บริษัทสำรวจภัย บริษัทรถยก บริษัทประมูลซากรถ เป็นต้น โดยมีปริมาณเคลมที่บริหารจัดการผ่านระบบดังกล่าวปีละกว่า 1.5 ล้านเคลม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป กล่าวต่อไปว่า บริษัทยังให้บริการสนับสนุนการปฏิบัติงานแก่ธุรกิจประกันภัย ผ่านการดำเนินงานของ 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ
ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน เพื่อให้บริการแก่บริษัทประกันที่มีรับประกันภัยสุขภาพ
และบริหารจัดการสวัสดิการรักษาพยาบาลให้แก่บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทยที่มีการจัดการสวัสดิการพนักงานเอง โดยมีสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงคลินิกทั่วประเทศในเครือข่ายมากกว่า 500 แห่ง
สามารถใช้ระบบตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยและพนักงานขององค์กรทั่วไปที่บริหารจัดการสวัสดิการพนักงานด้วยตนเอง รวมกันกว่า 8.8 ล้านคน
นอกจากนี้ยังให้บริการคำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยโดย บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด และให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแก่องค์กร โดย บริษัท บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด
ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายรักษาความเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจ โดยการออกแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย (InsurTech) เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการจัดการสินไหมได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในกลุ่มธุรกิจการให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
สำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ และมุ่งให้บริการแบบ One Stop Service ด้านการจัดการสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
สำหรับการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนในกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพ นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยี AI ต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการ
เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและมอบประสบการณ์การให้บริการที่ดีแก่ผู้เอาประกัน พร้อมมุ่งขยายธุรกิจการให้บริการไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
“พร้อมเป็น Industry Game Changer ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันภัยรถยนต์และธุรกิจประกันสุขภาพ จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มโซลูชั่นและแอปพลิเคชัน
เพื่อยกระดับการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าแก่ลูกค้าในภาคธุรกิจ สร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดีและความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้บริโภค” นางนวรัตน์ กล่าวย้ำ
นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) จำนวนไม่เกิน 67.50 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้น 157.50 ล้านหุ้น
คิดเป็นสัดส่วนรวมไม่เกินร้อยละ 35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้นับ 1 แบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้พัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจ รองรับแผนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท
09 มกราคม 2566
ผู้ชม 561 ครั้ง