STA ทุ่มงบลงทุนยางแท่งกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท
STA ทุ่มงบลงทุนยางแท่งกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท
STA ทุ่มงบลงทุนยางแท่งกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท
ขยายกำลังการผลิต-เพิ่มส่วนแบ่งตลาดยางใน/ตปท.
บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (“STA” หรือ “บริษัทฯ”) เปิดแผนขยายกำลังการผลิตเชิงรุก รับภาพรวมอุตสาหกรรมยางเริ่มฟื้นตัวในช่วงวัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่
วางเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็น 12% และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในไทยเป็น 35% ปรับเพิ่มงบลงทุนยางแท่งในปี 2565–2566 เป็นกว่า 6,000–7,000 ล้านบาท ขยายกำลังผลิตอีก 1.1 ล้านตันต่อปี
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวของวัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ และซัพพลายในตลาดโลกที่คาดว่าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้
รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง สู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งเมกะเทรนด์ของโลก มองว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น
โดยมีข้อมูลว่ารถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) จะต้องใช้ล้อรถและยางล้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากมีน้ำหนักและแรงบิดมากกว่ารถยนต์ทั่วไป
นอกจากนี้ภาพรวมราคาเฉลี่ยยางแท่ง TSR20 ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของประเทศสิงคโปร์ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี คาดว่าราคาซื้อขายเฉลี่ยในปี 2565 จะไม่ต่ำกว่า 170 เซนต์ต่อกิโลกรัม จากปีก่อนอยู่ที่กว่า 167 เซนต์ต่อกิโลกรัม จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่จะรุกเพิ่มส่วนแบ่งอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในตลาดโลก
ดังนั้นในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งยางธรรมชาติในตลาดโลกเป็น 12% จากสิ้นปี 2564 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 10% ตอกย้ำผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก และจะรุกเพิ่มส่วนแบ่งตลาดยางธรรมชาติในประเทศไทยเป็น 35% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 32%
ขณะเดียวกันบริษัทได้เพิ่มงบลงทุนขยายกำลังการผลิตยางแท่งเป็นกว่า 6,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1.1 ล้านตันต่อปี จาก 14 โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ รวมถึงประเทศเมียนมา
เนื่องจากในปี 2564 มีอัตราการเดินเครื่องจักรผลิตยางแท่งในประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 80% โดยปี 2565 จะมีโรงงานทยอยแล้วเสร็จ 7 แห่ง ได้แก่ โรงงานสกลนคร พิษณุโลก ตรัง กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สระแก้วและบึงกาฬ
ส่วนที่เหลือจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2566-2567 แผนลงทุนขยายกำลังการผลิตดังกล่าว เพื่อรองรับเป้าหมายปริมาณการขายยางธรรมชาติทุกประเภท ในปี 2565 ที่ 1.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนมีปริมาณการขายประมาณ 1.3 ล้านตัน
สอดคล้องกับการวางแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2565–2567) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรวมยางทุกประเภทเป็น 4.16 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปี 2564 มีกำลังการผลิตยางทุกประเภทรวม 2.81 ล้านตันต่อปี
“มองว่าในช่วง 3 ปีนับจากนี้เป็นโอกาสการลงทุนขยายกำลังการผลิต เนื่องจากดีมานด์ในอุตสาหกรรมยางทั่วโลกเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวและมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่ภาพรวมซัพพลายในตลาดโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากผู้ประกอบการบางประเทศที่เป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการขยายกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเร่งขยายการลงทุนมากขึ้น” นายวีรสิทธิ์ กล่าวสรุป
16 มีนาคม 2565
ผู้ชม 867 ครั้ง