สถิติ

71470793

"ออริจิ้น-GUNKUL-บริทาเนีย" กางแผน 3 ปี สร้าง "โซลาร์ วิลเลจ"    

   "ออริจิ้น-GUNKUL-บริทาเนีย" กางแผน 3 ปี สร้าง "โซลาร์ วิลเลจ"

   นำร่องPrivate PPA"แกรนด์ บริทาเนีย"สร้างอีโคซิสเท็มพลังงานสะอาด

            

   ออริจิ้น-กันกุล-บริทาเนีย ต่อยอดสร้างปรากฏการณ์ความร่วมมือนวัตกรรมพลังงานสะอาดในที่อยู่อาศัย กางแผน 3 ปี หนุนหลากโครงการบ้านเดี่ยว “แกรนด์ บริทาเนีย” สู่ “โซลาร์ วิลเลจ”

   หวังสร้างความยั่งยืนให้ที่อยู่อาศัยสู่ Zero-Carbon Ecosystem ไตรมาส 1/2565 นำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟแบบ Private PPA ใน 2 โครงการย่านราชพฤกษ์-พระราม 5 และบางนา กม.12

   ก่อนขยายผลต่อเนื่อง ปี 66-67 จ่อนำแอป PARITY เอื้อลูกบ้านซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านบล็อกเชนและ Smart Contract แบบ Peer-to-Peer

   นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า หลังจากได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ภายใต้ชื่อ บริษัท ออริจิ้น กันกุล เอ็นเนอร์ยี จำกัด เพื่อร่วมกันดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาดในโครงการที่อยู่อาศัย

   ล่าสุดบริษัทได้วางแผน 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) ในการผลักดันให้เกิดหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ วิลเลจ) ในกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรรภายใต้บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI บริษัทในเครือซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจบ้านจัดสรร

   โดยเฉพาะในโครงการบ้านเดี่ยวแบรนด์ แกรนด์ บริทาเนีย (Grand Britania) มุ่งเน้นติดโซลาร์รูฟในโครงการใหม่ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่โครงการรวม 30-50 ไร่ มียูนิตพักอาศัยรวม 100-200 หลัง ในแถบกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมทั้งสร้างระบบที่ทำให้เรื่องพลังงานสะอาด เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนในชุมชน

   “นวัตกรรมพลังงานสะอาดเป็นเมกะเทรนด์ที่เรามุ่งมั่นส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคในที่พักอาศัยทั้งในคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร โดยโซลาร์ วิลเลจ จะเป็นโมเดลสำคัญที่เกิดขึ้นกับโครงการบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ในอนาคต ยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภค” นายพีระพงศ์​ กล่าวย้ำ

   ด้าน นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI กล่าวว่า แบรนด์แกรนด์ บริทาเนีย มีความเหมาะสมต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากที่อยู่อาศัยในโครงการส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว

   มีหลังคารูปทรงปั้นหยา ที่สามารถนำแผงโซลาร์เซลหันหน้ารับแสงอาทิตย์ในทิศทางที่เหมาะสมได้อย่างเต็มที่ โดยในเฟสแรกบริษัทจะเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟ

   และนำร่องสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาว หรือ Private PPA (Power Purchase Agreement) กับพื้นที่ส่วนกลางโครงการแกรนด์ บริทาเนีย ราชพฤกษ์-พระราม 5 และโครงการแกรนด์ บริทาเนีย บางนา กม.12 สร้างคุณค่าให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการ

   ขณะเดียวกันในปี 2565 อาจมีการพิจารณาติดตั้งโซลาร์รูฟในรูปแบบ Private PPA กับโครงการแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นไปได้ด้วย โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม

   นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า ในฐานะบริษัทผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจรและธุรกิจระบบไฟฟ้า GUNKUL จะเป็นผู้ลงทุนและผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการออกแบบและก่อสร้างระบบโซลาร์รูฟ

   เพื่อเป็นโครงการนำร่องสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาวหรือ Private PPA (Power Purchase Agreement) ในระดับพาณิชย์ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายให้กับส่วนกลางและโครงการบ้านอยู่อาศัยของบริทาเนีย ในอัตราค่าไฟที่ประหยัดยิ่งขึ้น

   โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมทดสอบการทำงานของระบบภายในไตรมาส 1/2565 และต่อยอดบริการให้ครอบคลุมไปจนถึงบริการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงาน (Peer-to-Peer Energy Trading)

   ซึ่งความร่วมมือกับเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ในครั้งนี้จะไม่ใช่แค่เพียงการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก แต่เป็นการเน้นย้ำแนวคิด ENERGY x URBAN LIVING solution ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับการอยู่อาศัยและนำไปสู่การเป็น Zero-Carbon ecosystem ผ่านมิติของพลังงาน

   “ความร่วมมือระหว่างผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำด้านพลังงาน จะเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยให้เกิดขึ้นได้จริง เป็น ENERGY x URBAN LIVING solution แห่งอนาคต” นายสมบูรณ์ กล่าวย้ำ

   ขณะที่ นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรม และ Team lead ของแผนกนวัตกรรมธุรกิจพลังงาน GUNKUL SPECTRUM กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทให้ความสนใจในการทำสัญญาซื้อขายพลังงานเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรม Energy-as-a-Service ค่อนข้างมาก

   เนื่องมาจากข้อได้เปรียบของการที่ผู้บริโภคหรือเจ้าของบ้านสามารถเข้าถึงบริการด้านพลังงานได้อย่างหลากหลายโดยไม่มีเงินลงทุนเบื้องต้น ซึ่งบริษัทมองที่จะต่อยอดเฟสถัดไปในปี 2566-2567

   เริ่มดำเนินการให้ลูกบ้านได้ทดลองแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงาน (Peer-to-Peer Energy Trading) ที่ผลิตได้จากระบบโซลาร์รูฟของตนเองผ่านทางแอปพลิเคชัน PARITY ที่บริษัทพัฒนาขึ้น

   โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาสร้างชุดคำสั่งซื้อขายพลังงานอัจฉริยะ (Smart contract) ทำให้ไม่มีพลังงานไหนที่สูญเปล่าแต่สร้างมูลค่าในทุกยูนิตที่ผลิตได้

   นับเป็นการให้เจ้าของบ้านได้สัมผัสกับประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่เจ้าตัวสามารถบริหารจัดการพลังงานและค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองควบคู่กันไปอย่างไร้รอยต่อ เช่นเดียวกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอื่นๆ และยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคตผ่านพลังงานสะอาดอีกด้วย

23 ธันวาคม 2564

ผู้ชม 253 ครั้ง

Engine by shopup.com