BGC โชว์ Q2/64 กำไรสุทธิพุ่ง 53%
BGC โชว์ Q2/64 กำไรสุทธิพุ่ง 53%
BGC โชว์ Q2/64 กำไรสุทธิพุ่ง 53%
รุกลงทุน-เพิ่มกำลังผลิตแพคเกจจิ้ง
บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC เติบโตโดดเด่นสวนกระแส ไตรมาส 2/2564 ทำกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท พุ่งแรง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับดีมานด์บรรจุภัณฑ์ที่แข็งแกร่งและเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าลงทุนใน BVP และ BGP
ผู้ถือหุ้นเตรียมเฮรับบอร์ดอนุมัติปันผลระหว่างกาล 0.12 บาทต่อหุ้น เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ พร้อมไฟเขียวบริษัทย่อย "BGP" ขยายการลงทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน กำลังการผลิตสูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี
คาดแล้วเสร็จในไตรมาสแรกปี 2566 รับแผนเติบโตและยกระดับสู่ Total Packaging Solutions ประเมินดีมานด์บรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทสามารถทำผลการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น
และฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาที่มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผลการดำเนินงานล่าสุดในไตรมาส 2/2564 มีรายได้จากการขาย 3,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และมีกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอกย้ำความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจและศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่น
ปัจจัยที่บริษัทสามารถทำผลการดำเนินงานเติบโตมาจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการด้านการผลิตภายในโรงงาน
โดยประสิทธิภาพในการผลิต (Efficiency Rate) ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 86.5% และในขณะเดียวกันบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนในบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ
และบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามกลยุทธ์ยกระดับธุรกิจสู่ Total Packaging Solutions
ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีรายได้จากการขาย 6,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ทำให้บริษัทมี Product Mixed ที่หลากหลายยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะบรรจุภัณฑ์แก้ว และยังทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองที่ดีและสามารถเพิ่มยอดขายจากลูกค้าแต่ละราย
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ โดยคาดว่าในปีนี้ทั้ง 2 บริษัท (BVP และ BGP) จะมียอดขายรวมกันประมาณ 2,000 ล้านบาท” นายศิลปรัตน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
จากผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทจึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.12 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 83.33 ล้านบาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นี้ และจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 10 กันยายน 2564
ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 176 ล้านบาท สำหรับ BGP เพื่อเดินหน้าขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) กำลังการผลิตสูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มพอร์ตสินค้าและความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์
ตอบสนองความต้องการกลุ่มถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนภายในประเทศที่มีอัตราเติบโตสูง ขยายผลิตภัณฑ์เข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำ และรองรับเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในอนาคต คาดว่าจะเริ่มการลงทุนขยายกำลังการผลิตในไตรมาส 1/2565
และแล้วเสร็จเริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 1/2566 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนที่จะขับเคลื่อนการเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2025
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังยังมั่นใจว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ตามแผนงานที่วางไว้ และผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัททั้งปีเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2562
เนื่องจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงวางเป้าหมายสร้างยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
แม้มีปัจจัยลบและความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเชื่อว่าหากกระจายวัคซีนแก่ประชาชนได้มากขึ้นและสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ทยอยเปิดกิจการ
ทำให้ดีมานด์บรรจุภัณฑ์มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีถือเป็นไฮซีซั่นหรือฤดูการขายสินค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของบริษัท
ขณะที่กลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น และเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกเป็น 10% ของรายได้รวม
พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ดีมานด์ในตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนปรับระดับสต๊อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านต้นทุน
ทั้งการเพิ่มประเภทพลังงานที่ใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มสัดส่วนการใช้เศษแก้วในเตาหลอมเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมอุณหภูมิในเตาหลอมแก้ว
ช่วยลดความสูญเสียของพลังงาน อย่างไรก็ตามสำหรับราคาโซดาแอช (Soda ash) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแก้วมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องและเศษแก้วยังคงมีราคาทรงตัว
14 สิงหาคม 2564
ผู้ชม 472 ครั้ง