TM ผุดสินค้าฆ่าเชื้อไวรัสรุกครึ่งหลัง
TM ผุดสินค้าฆ่าเชื้อไวรัสรุกครึ่งหลัง
TM ผุดสินค้าฆ่าเชื้อไวรัสรุกครึ่งหลัง
เจาะตลาดปั้นรายได้แตะ650-700 ลบ.
บมจ.เทคโนเมดิคัล (TM) เดินเกมรุกเจาะตลาดฆ่าเชื้อไวรัสต่อเนื่อง ส่งสัญญาณการฟื้นตัวครึ่งปีหลังผลการดำเนินเติบโตผ่านฉลุย เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่ ยอดขายสินค้ากลุ่มผ่าตัดหัวใจฉุดยอดขายลด
พร้อมลุยจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มป้องกันโควิด ทั้ง Antigen test kit -ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ พร้อมเตรียมจำหน่าย Oxygen High Flow และ Oxygen Concentrator ในกลางส.ค.นี้ ระบุมั่นใจรายได้ทั้งปีเข้าเป้า 650-700 ล้านบาท
นางสุนทรี จรรโลงบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน ตระหนักถึงความปลอดภัยจากไวรัสดังกล่าว
TM ในฐานะผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อไวรัส Covid-19 มีความมุ่งมั่นในการให้บริการของบริษัทฯผ่านแพลตฟอร์ม TM CARE SHOP และช่องทางออนไลน์ต่างๆมากขึ้น
ส่งผลให้บริษัทเดินหน้าปรับกลยุทธ์ทิศทางครึ่งปีหลัง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นในการนำสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น
เพื่อรองรับความต้องการตลาดโดยเฉพาะชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 (Antigen test kit) ที่บริษัทได้เริ่มจำหน่ายแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งล่าสุดมียอดออเดอร์เข้ามาแล้วกว่า 70 ล้านบาท
และภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้บริษัทเตรียมจำหน่ายสินค้าใหม่ คือ อุปกรณ์ใช้สำหรับควบคุมการไหลของออกซิเจน (Oxygen High Flow) และเครื่องผลิตออกซิเจนในความเข้มข้นที่สูง (Oxygen Concentrator)
ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการมากในการดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงเครื่องฟอกอากาศ เพื่อใช้ภายในบ้านที่มีไอออน ช่วยการดักจับฝุ่นขนาดเล็ก ได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองที่ปัจจุบันมีความต้องการเป็นจำนวนมาก และบริษัทจำหน่ายอยู่แล้ว
อาทิ น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ สเปรย์ปรับอากาศฆ่าเชื้อโรค หน้ากากอนามัย และ ชุด PPE ยังคงมีดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทฯในครึ่งปีหลังอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวในข้างต้น ส่งผลให้บริษัทมั่นใจว่า แนวโน้มผลการดำเนินในช่วงครึ่งปีหลังส่งสัญญาณเชิงโดยจะมีทิศทางการเติบโตมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ขณะที่สินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ กลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับไวรัสโควิด-19 ก็ยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง
ซึ่งก็จะส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ 650-700 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้จากการขายสินค้ากว่า 293 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลเฉพาะทางภายใต้โครงการ “THE PARENTS” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารTM กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในการก่อสร้างอาคาร Nursing Home เพื่อใช้เป็นสถานที่รับดูแลผู้สูงอายุทุกภาวะ
เฟส2 คาดว่าเริ่มก่อสร้างได้เดือนตุลาคมนี้ จากก่อนหน้านี้ได้มีการก่อสร้างในเฟสแรกไปแล้วช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามคาดว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลเฉพาะทางดังกล่าวจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2566
ซึ่งหากแผนขยายธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย จะส่งผลให้บริษัททยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจนี้เข้ามาเฉลี่ย100-150 ล้านต่อปี โดยรายได้ดังกล่าวเข้ามาชัดเจนตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนของรายได้ประจำ (Recurring income) ให้มีความเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าจำนวน 293.58 ล้านบาท ลดลง 15.31 ล้านบาท หรือ 5 % เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากรายได้จากการขายสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะยอดขายจากสินค้ากลุ่มผ่าตัดหัวใจลดลง ประกอบกับการแข่งขันด้านราคามีความรุนแรงสูง อีกทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า อาทิ ค่าขนส่งทางเรือ และทางอากาศ มีการปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทมีกำไรสุทธิ (งบการเงินเฉพาะกิจการ ) สำหรับงวด 6 เดือน 2564 อยู่ที่ระดับ 29.74 ล้านบาท แต่มีขาดทุนสุทธิ (งบการเงินรวม) จำนวน 0.67 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิในงบการเงินเฉพาะกิจการเพิ่มขึ้น
เนื่องจากบริษัทมีกำไรจากการขายที่ดินให้ TMNC จำนวน 28.60 ล้านบาท ขณะที่มีขาดทุนเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานปี 2563 เนื่องจากยอดขายลดลง และค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น
ซึ่งเกิดการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน (ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น) และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากกาไรขายที่ดินของบริษัทใหญ่
12 สิงหาคม 2564
ผู้ชม 249 ครั้ง