สถิติ

66713446

SCGปรับกลยุทธ์-ลดเป้าหมายเติบโตสู้!โควิด-19  

   SCGปรับกลยุทธ์-ลดเป้าหมายเติบโตสู้!โควิด-19

   หลังQ1 ยอดขาย/กำไรทรุด!-รุก!ออนไลน์เต็มสูบ   

  

   นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลงแต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งชัดเจนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

   โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,971 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลง และลูกค้าหลักเป็นประเทศจีนที่หายไป

   โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) 46,120 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 1,372 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของยอดขายรวม

   นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ทั้งสิ้น 44,859 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

   ทั้งนี้เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกจากประเทศไทย 24,319 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีมูลค่า 708,931 ล้านบาท โดยร้อยละ 34 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

   นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากการระบาดของโควิด-19ที่ได้ส่งผลต่อยอดขายในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้นทาง เอสซีจี ประเมินว่า จากวิกฤติการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับลดเป้าหมายยอดขายลงมาจากเดิมที่ตั้งไว้ในปี 2563 นี้

   แต่สำหรับยอดขายธุรกิจซีเมนต์ยังไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะหากภาครัฐยังคงดำเนินนโยบายโครงการก่อสร้างดังเดิมก็จะทำให้ให้ธุรกิจซีเมนต์เติบโตได้ต่อไป

   ในขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้งที่เกี่ยวกับอาหารยังสามารถเติบโตได้รวมถึงช่องทางธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะ SCG HOME  ที่ลูกค้าให้ความสนใจมากขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้น เอสซีจี จึงต้องมีการปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

   รวมถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการต่าง ๆ ไปยังลูกค้าทุกกลุ่มมีความสะดวกและปลอดภัย ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้

   เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการผลักดันการใช้ Blockchain ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินกับคู่ธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยังรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง พร้อมเตรียมปรับตัวอย่างเต็มที่ในการรับความท้าทายหากสถานการณ์ยาวนานต่อไป

   ในขณะจากสถานการณ์ดังกล่าวทาง เอสซีจี ก็มีการทบทวนงบประมาณในการลงทุนจากเดิมที่ตั้งไว้ 60,000-70,000 ล้านบาทก็ต้องมีการปรับลดลงมาอยู่ในกรอบ 55,000-65,000 ล้านบาท 

   นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการช่วยเหลือสังคมนั้น เอสซีจีได้นำความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการเร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ และทันต่อความต้องการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลประชาชน

   อาทิ นวัตกรรมห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) โดยเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution รวมทั้งนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เป็นต้น                       

   ซึ่งนอกจากมูลนิธิเอสซีจีจะได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปทยอยส่งมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลนแล้ว ยังมีพลังน้ำใจจากผู้ร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิต่าง ๆ ที่ช่วยให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุดอีกด้วย

 

 

02 พฤษภาคม 2563

ผู้ชม 838 ครั้ง

Engine by shopup.com